สถานที่สำคัญ

อุทยานมังกรสวรรค์ พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร

พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร

อุทยานมังกรสวรรค์ พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และหมู่บ้านมังกรสวรรค์ คือสถานที่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน อลังการงานสร้าง ด้วยแรงเงิน และแรงศัทธา สถานที่รวบรวมเรื่องราวที่มากคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ห้องเรียนที่น่าตื่นตาตื่นใจ และสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่อาจผ่านเลย

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สถานที่เคารพของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผู้คนต้องแวะเวียนมากราบไหว้ขอพร ที่ซึ่งหลายคนเชื่อว่า หากได้มากราบไหว้แล้ว จะนำมาซึ่งโชคลาภ ความร่ำรวย ความสำเร็จ และความสุข

พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร จัดแสดงประวัติศาสตร์ของจีน จัดตกแต่งสวยงาม มีรูปปั้น ระฆังยักษ์ และน้ำตกขนาดใหญ่ แบ่งเป็นห้อง 18 ห้อง รูปแบบแปลกตาด้วยภาพ แสงสีเสียง และเทคนิกพิเศษ น่าชมเป็นอย่างยิ่ง

หมู่บ้านมังกรสวรรค์ หมู่บ้านซึ่งได้จำลองรูปแบบ “เมืองลีเจียง” ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่โบราณอายุนับพันปี ที่มีรูปแบบที่สวยงามจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเมืองมรดกโลก

วัดป่าเลไลยก์

วัดป่าเลไลยก์

ว่ากันว่า ถ้ามาเมืองสุพรรณ แล้วไม่ได้แวะมากราบไหว้หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ ก็เหมือนมาไม่ถึงเมืองสุพรรณ ด้วยที่วัดป่าเลไลยก์เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุพรรณบุรีมาช้านาน และยังเป็นสถานที่หนึ่งในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน อีกด้วย

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี หรือท่าจีน ห่างจากฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เนื้อที่กว้าง 82 ไร่ 1 งาน มีโบราณสถานอันเป็นประธานของวัด คือ พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ซึ่งเรียกกันว่า “ หลวงพ่อโตวัดป่าไลไลยก์”

รอยพระพุทธบาท วัดเขาดีสลัก

รอยพระพุทธบาท วัดเขาดีสลัก

บนเทือกเขาในเขตอำเภออู่ทอง มีวัดวัดหนึ่งเป็นวัดที่สวยงามสงบเงียบ  และรายล้อมด้วยธรรมชาติ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าเยี่ยมชม ในความเป็นธรรมชาติ มีสิ่งก่อสร้างในความเชื่อทางศาสนา ที่มีอายุนับพันปี ที่งดงามทั้งรูปแบบ มากด้วยคุณค่ามีเรื่องราวที่น่าศึกษาค้นคว้าความเป็นมา ของประวัติศาสตร์ที่ยังคงปริศนา

พระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินทรายแดง มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบตามที่อื่นๆ คือ เป็นรอยพระพุทธบาทนูนต่ำ ขนาดกว้างประมาณ 65.5 ซม. ยาว 141.5 ซม. นักโบราณคดีให้ความเห็นแตกต่างกันไป บางท่านว่าเป็น ศิลปะสมัยทวาราวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 บางท่านว่า แม้รูปแบบลวดลายจะคล้ายกับศิลปะสมัยทวาราวดี แต่ก็มีรูปแบบอื่นเข้ามาปะปน ซึ่งอาจเป็นผลงานที่สร้างในสมัยอยุธยา ราวพุทธศวรรษที่ 19-23 ก็เป็นได้